10 เคล็ดลับของการเป็นผู้ฟังที่ดี ให้โลกนี้อยู่ง่ายขึ้น

ในโลกที่ทุกคนอยากพูด แสดงความคิดเห็น หรือระบายความในใจออกมา การเป็นผู้ฟังที่ดีคือคุณสมบัติที่ดีของคนที่จะเป็นที่รัก เมื่ออยู่ด้วยแล้วสบายใจใครๆก็อยากคุยด้วย และหนำซ้ำยังเปิดโอกาสให้เราได้รับเอามุมมองใหม่ๆเข้ามาด้วยซ้ำ เราจึงมีเคล็ดลับของการเป็นผู้ฟังที่ดีมาแนะนำ เผื่อจะนำไปใช้ ให้คุณเองกลายเป็นผู้ให้ได้อย่างง่ายๆ แค่ ‘รับฟัง’ เท่านั้นเอง

[01]

เปิดใจ ตั้งใจฟังอย่างมีสมาธิ

อย่าเพิ่งหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเล่น อย่ามัวเหล่หนุ่ม เหล่สาว หรือนั่งเหม่อลอย อย่างน้อยต้องรู้จักให้ความสำคัญกับคู่สนทนาก่อนในอันดับแรก ไม่ว่าเขาจะพูดเรื่องใดก็ตามผู้ฟังที่ดีควรจับใจความเพื่อความเข้าใจในเนื้อหา หากพบว่าบทสนทนานั้นทำให้เราอึดอัด ค่อยหาจังหวะจบทีหลังก็ได้

[02]

รู้จักสังเกตภาษากาย และใช้ภาษากาย

การสบตาคู่สนทนา เป็นการยืนยันที่ดีที่สุดว่าคุณกำลังตั้งใจฟัง แถมยังได้สังเกตสีหน้าท่าทางของคู่สนทนาได้อย่างจริงใจ เพื่อให้คุณเองไม่เผลอทำสีหน้าที่อาจส่งผลให้เขาไม่สบายใจได้ (แต่คุณเองก็อาจไม่ต้องฝืนยิ้มตลอดเวลาหรือทำหน้าเห็นอกเห็นใจจนดูปลอมซะเหลือเกิน)

[03]

อย่าเพิ่งชิงเล่าเรื่องตัวเอง

หลายคน พอได้ฟังเรื่องราวจากอีกฝ่ายแล้ว จะนึกเทียบกับเรื่องของตัวเองโดยอัตโนมัติ และการเล่าออกมาอาจช่วยให้การสนทนาออกรสได้แค่บางจังหวะเท่านั้น การชิงเล่าเรื่องของตัวเองเทียบขึ้นมาบางครั้งก็เป็นการขัดจังหวะชาวบ้าน หรือบางครั้งอาจจะน่าหมั่นไส้ก็เป็นได้

[04]

รู้จักเงียบในจังหวะที่ควรเงียบ

บางคนต้องการการระบาย และเขาต้องการเพียงคนที่รับฟังเขา และการรับฟังจริงๆอาจไม่ต้องให้คำปรึกษาใดๆเลยด้วยซ้ำ แต่แค่อยู่ตรงนั้นให้เขารู้ว่ามีคนกำลัง ‘ฟัง’ ความทุกข์ร้อนของเขา นั่นก็อาจเพียงพอแล้ว และบางครั้งแค่การตบบ่าก็ช่วยได้มากแล้วจริงๆ

[05]

ฟังให้จบประเด็น คิดให้ถ้วนถี่ก่อน ค่อยแสดงความคิดเห็น

แน่นอนว่าพอฟังบางเรื่องราวแล้ว เรามีปฏิกิริยาตอบสนองทันที เช่นพูดแทรกหรือแสดงความคิดเห็น โดยยังไม่ทันฟังข้อมูลให้ครบถ้วนด้วยซ้ำ พาลทำให้บรรยากาศของการสนทนาติดขัดเสียเปล่าๆ ดังนั้น การเงียบไว้ก่อน ฟังให้ครบถ้วนกระบวนความแล้วค่อยออกความคิดเห็นที่เดียวอาจจะวินกว่า แถมดูคูลกว่าด้วย

[06]

เมื่อไม่เข้าใจให้ถาม อย่าตีความเอง

แน่นอนว่าเราควรเงียบบ้าง แต่ให้เงียบเป็นเป่าสากโดยที่เก็บความสงสัยไว้เต็มไปหมดย่อมไม่ใช่เรื่องดีแน่ๆ ดังนั้นหากสิ่งที่คู่สนทนาพูดทำให้เราขุ่นข้องหมองใจ หรือมีความคลุมเครือ เราก็ควรเอ่ยปากถาม อาจจะถามตรงๆ หรือใช้ศิลปะการพูดก็แล้วแต่ความถนัดและความเหมาะสม เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน อย่าตีความไปเองอย่างเด็ดขาด

[07]

รู้จักเห็นอกเห็นใจ อย่าเพิ่งเอามาตรฐานของเราไปตัดสินเขา

เรื่องเล็กของเรา อาจเป็นเรื่องใหญ่ของเขาก็ได้ เรื่องใหญ่ของเรา ก็อาจเป็นแค่เรื่องเล็กๆของเขาเล่นกัน ดังนั้น อย่าเพิ่งออกความคิดเห็นโดยมองว่าเรื่องที่เรากำลังฟังคือเรื่องไร้สาระ

[08]

อย่าสักแต่ว่าจะพูดเอาใจเขา

บางคนอาจจะตัดปัญหาด้วยการเออออห่อหมกตามคู่สนทนา หรือว่าพูดจาคล้อยตามเพื่อให้เขาพอใจ เพราะนั่นไม่ใช่คุณสมบัติของผู้ฟังที่ดี เพราะหากคุณรับฟังอย่างตั้งใจแล้วพบว่าตรรกะที่กำลังสื่อสารกันมันผิด คุณก็มีสิทธิใช้เหตุผลกลับไปหาเขาได้อย่างใจเย็น เพื่อรักษาบรรยากาศการสนทนาให้ราบรื่น

[09]

อย่าคาดหวังว่าเขาต้องทำตามคำแนะนำของคุณ

เราอาจจะให้คำแนะนำไปมากมายด้วยความหวังดี แต่ท้ายที่สุดแล้วชีวิตใครก็ชีวิตมัน คุณอาจจะมีความคิดของคุณ เขาเองก็มีเหตุผลและปัจจัยในชีวิตของเขา ดังนั้นเพียงแต่ให้คำแนะนำไปเถิด อย่าคาดคั้นให้เขารับปาก หรือคาดหวังเองในใจก็ตาม

[10]

รู้จักจังหวะที่จะหาทางจบ

ในจุดที่คุณอาจจะเหนื่อยหรืออึดอัดเกินกว่าจะนั่งฟังเรื่องที่ยืดยาวของใคร การปล่อยให้เขาเล่าจนพอใจก็อาจจะใช้เวลานานเกิน ดังนั้นคุณเองควรหาวิธีที่เหมาะกับตัวเองในการ ‘ชิ่ง’ ซึ่งการหาจังหวะดีๆ แล้วบอกความจำเป็นของคุณที่จะต้องจากไปแล้ว ก็ไม่ได้เป็นการเสียมารยาทเกินไปนัก แต่นั่นต้องเป็นหลังจากที่คุณได้เปิดใจรับฟังเขาอย่างเต็มที่ตั้งแต่ต้นแล้วเสียก่อน